มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ เรา 'กระทำ' ด้วยเหตุผลและ 'คุณค่า' แต่ถูกจำกัดด้วย 'เวลา' - นี่คือหัวใจของเศรษฐกิจที่แท้จริง 🧡 https://i.nostr.build/PWJGgKGC8ilMN4dj.jpg 3 EP ที่ผ่านมาของ JUST Economics เราได้ปูพื้นฐานเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนจากบทที่ 1-3 ของหนังสือ Principles of Economics โดย Saifedean Ammous ..เริ่มจาก EP ที่ 1 การกระทำของมนุษย์ (Human Action) เราได้เข้าใจว่า.. การกระทำของมนุษย์ (Human Action) คือหัวใจสำคัญ ตามที่ลุดวิก ฟอน มิเซส (Ludwig von Mises) ได้อธิบายไว้ในหนังสือ Human Action ของเขา มิเซสบอกว่า.. การกระทำคือการแสดงออกถึงเจตจำนงของเรา เราตั้งใจทำอะไรสักอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสภาพแวดล้อม และเป็นการปรับตัวของเราต่อโลกใบนี้ มนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมไว้ หรือสัตว์ที่ทำตามสัญชาตญาณ เราคิด เราเลือก และมีเหตุผล แม้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาดีหรือไม่ก็ตาม เราได้เรียนรู้ว่าการกระทำของมนุษย์เกิดจาก ความต้องการที่ยังไม่บรรลุผล ซึ่งเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ผลักดันให้เราไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความอยากได้อยากมี หรือความอยากรู้อยากเห็น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น แรงจูงใจ ที่ทำให้เราคิด วางแผน และ ลงมือทำ ..การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Analysis) เป็นอีกหัวข้อสำคัญที่เราได้เรียนรู้ ฮานส์-เฮอร์มันน์ ฮ็อปเป่ (Hans-Hermann Hoppe) บอกว่า.. การวิเคราะห์เศรษฐกิจ มันเหมือนกับการไขคดีเลยล่ะ เราต้องแกะรอย หาหลักฐานและเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน เศรษฐศาสตร์ไม่สามารถทดลองแบบวิทยาศาสตร์ได้ เพราะมนุษย์ ไม่ใช่ลูกตุ้ม แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ตัดสินใจไม่เหมือนกัน การวิเคราะห์เศรษฐกิจแค่ตัวเลขอย่างเดียว อาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ เพราะตัวเลขมันเหมือนเปลือกนอก.. เราต้องมองให้ลึกกว่านั้น ถึงจะเห็นแก่นแท้ของปัญหา ทีนี้แล้วอะไรล่ะที่เป็นตัวกำหนดการกระทำของมนุษย์? ..คำตอบอยู่ใน EP 2 คุณค่า (Value) ของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมองว่ามันมีค่าแค่ไหน ตามที่ คาร์ล เมงเงอร์ (Carl Menger) ได้อธิบายไว้ในหนังสือ Principles of Economics ของเขา เมงเงอร์บอกว่า.. มูลค่าไม่มีอยู่นอกเหนือจิตสำนึกของมนุษย์ ใน EP นี้เรายังได้เรียนรู้ 'ทฤษฎีส่วนเพิ่ม' (Marginalism) ที่บอกว่า ความสุขที่เราได้จากการบริโภคของจะลดลงเรื่อยๆ ตามกฎของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ลดลง (Law of Diminishing Marginal Utility) เพราะยิ่งเรามีอะไรมากขึ้น.. ความสุขที่ได้รับจากสิ่งนั้นก็จะลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น.. การเลือกใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ว่า "มูลค่า" เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความชอบ สถานการณ์ และ ความขาดแคลน ส่วน "ราคา" เป็นเพียง "ตัวเลข" ที่สะท้อนถึงการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ได้เป็นการวัดมูลค่าโดยตรง เหมือนกับที่บางคนยอมจ่ายแพงเพื่อซื้อกาแฟแบรนด์ดัง ทั้งๆ ที่กาแฟโบราณก็ให้รสชาติที่คล้ายคลึงกัน หรือบางคนเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง ทั้งๆ ที่เสื้อผ้าใหม่ก็มีให้เลือกมากมาย เพราะ "มูลค่า" มันไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้าเอง แต่มันอยู่ที่ว่าเราคิดว่ามันมีค่าแค่ไหนต่างหากล่ะ.. แล้วทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของมนุษย์คืออะไร? คำตอบอยู่ใน EP 3 นั้นก็คือ เวลา (Time) ในหนังสือ The Ultimate Resource ของไซมอน เขาได้บอกว่า.. เวลา เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุด เพราะมันมีจำกัดและใช้ไปแล้วก็เรียกคืนไม่ได้ ดังนั้นทุกการตัดสินใจของเรา จึงมี "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" แฝงอยู่ เนื่องจากเวลาเป็นสิ่งมีค่าและมีจำกัด เราจึงต้องหาวิธีใช้เวลาให้คุ้มค่า โดยอาศัยเทคโนโลยี การแบ่งงานกันทำ การลงทุน และการออมเพื่อความมั่นคงในอนาคต ระดับความเห็นแก่เวลา (Time Preference) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเรา มนุษย์มักจะให้คุณค่ากับความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสุขในอนาคต เหมือนกับที่หลายคนเลือกที่จะรูดบัตรเครดิต ทั้งที่รู้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง เพราะความต้องการได้ของ ณ ตอนนั้น มันมีค่ามากกว่าภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนมองว่า.. การทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจต้องเริ่มต้นจากการศึกษาการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ที่เกิดจากเหตุผลและมูลค่าที่แต่ละคนให้กับสิ่งต่างๆ ในขณะที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก.. มักจะใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และมองว่ารัฐควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมเศรษฐกิจ ซึ่งการแทรกแซงของรัฐในระบบเศรษฐกิจ มักจะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การกำหนดราคาสินค้ามักจะนำไปสู่การขาดแคลนของสินค้าจึงทำให้เกิดตลาดมืดขึ้น ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้คนงานตกงาน และการอุดหนุนโดยรัฐอาจทำให้เกิดการผลิตและบริโภคที่มากเกินความจำเป็น เศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนจึงมองว่ารัฐควรมีบทบาทจำกัด ===================== เห็นไหมครับว่าทั้ง 3 EP มันเชื่อมโยงกัน.. เริ่มจากการกระทำที่ถูกขับเคลื่อนด้วยมูลค่าและถูกจำกัดด้วยเวลา ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์ ที่ช่วยให้เรามองเห็นความลับเบื้องหลังของตัวเลขและทฤษฎี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฝากติดตาม JUST Economics ใน EP ต่อไปกันด้วยนะครับ รับรองว่า สนุก เข้าใจง่าย และได้ความรู้แน่นปึก!! 🥰😍 — nostr:nprofile1qqsdts7svdn3tudf6klz479d4cyj6a2hjc36kg3l06ts29scf5g4nvcpz4mhxue69uhk2er9dchxummnw3ezumrpdejqz9mhwden5te0ve5kcar9wghxummnw3ezuamfdejsz9nhwden5te0vakx7cnpdsh8yetvv9ujuun9vss0tu89 #Siamstr