"แยกเงินออกจากรัฐ" ตอนที่หนึ่ง <ทฤษฏีอภิชน หรือ ทฤษฏีว่าด้วยเรื่องชนชั้นนำ> บทสรุปเรื่อง “การแยกเงินออกจากรัฐอยู่ตอนที่สาม” ผมอาจจะเขียนเรื่องนี้ในเชิง "ปฏิบัติ" ว่าการแยกเงินออกจากรัฐสามารถทำอย่างไรได้บ้างผ่านมุมมองทางรัฐศาสตร์ ทั้งนี้อยากชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการโน้มน้าวใจคนด้วยเช่นกันว่าภายมุมมองการโน้มน้าวคนภายใต้เกมประชาธิปไตยมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง โดยจะอ้างอิงทฤษฏีอภิชน (elite theory) ผ่านมุมมองของสำนักคิดทฤษฏีชนชั้นนำของสำนักอิตาลีและแนะแนวข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยผ่านมุมมองของอิสรนิยมแบบเก่า (paleolibertarianism) ถ้าใครยังไม่มีพื้นฐานสองเรื่องที่ผมจะอ้างอิงนี้ผมอาจจะปูให้คร่าวๆ ก่อนว่ามันคืออะไรและมีความเป็นมาอย่างไร ก่อนทำความเข้าใจเรื่องทั้งหมดจะต้องเท้าความสำคัญของทฤษฏีว่าด้วยเรื่องชนชั้นนำก่อนว่ามันคืออะไร? มันจะเกี่ยวข้องยังไงกับเรื่องการ “แยกเงินออกจากรัฐ” เริ่มต้นจาก: นิยามและความหมายของทฤษฏีชนชั้นนำ: ทฤษฏีชนชั้นอภิชนหมายถึงทฤษฏีที่อธิบายความสัมพันธ์ในเรื่อง "อำนาจ" ภายในสังคมมนุษย์ ซึ่งสังคมมนุษย์บ่อยครั้งมักจะมีชนชั้นนำที่ถือเป็น "คนส่วนน้อย" (minority) มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจในทิศทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม “คนส่วนน้อย” หากขยายความให้เข้าใจง่ายคือพวกเขาเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายผู้กำหนดนโยบายของทุกภาคส่วนของสังคมก็ได้ กล่าวได้ว่าทฤษฏีชนชั้นนำ หรือ ทฤษฏีอภิชนเป็นเรื่องที่นำมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมในยุคปัจจุบันที่เป็นอยู่ได้ ยิ่งกว่านั้นการจำแนกกลุ่มชนชั้นนำจะมีรายละเอียดยิบย่อยถึงบทบาทและหน้าที่ภายในสังคมมาก แต่ถ้าเอากลุ่มที่สำคัญจริงคือ "กลุ่มทุนใหญ่" (ในไทยหรือต่างประเทศน่าจะเดาได้ว่าใครบ้าง) กลุ่มเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเหล่าผู้กำหนดนโยบายสาธารณะมากแล้วมีเงินทุนพอที่จะขับเคลื่อนแคมเปญทางการเมือง การสร้างสถาบันทางอุดมการณ์และอื่น ๆ เพื่อรักษาสถานภาพของตนภายในสังคม หลักฐานเชิงประจักษ์จะเห็นได้จากเวลาพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในประเทศไทยบ่อยครั้งมักจะมีภาพลักษณ์ที่ต้องผูกติดทักทายกันกับกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ (ต่างประเทศก็เป็น) แน่นอนว่าภาพลักษณ์แบบนี้ประชาชนไม่ได้อะไรครับ…. ในส่วนคำนิยามนี้สามารถสรุปสั้นๆคือ “ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ” ความเป็นมาของทฤษฏี: ทฤษฏีว่าด้วยเรื่องชนชั้นนำเริ่มต้นจากนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกนาม Polybius เขาเป็นคนจำแนกที่มาของแหล่งอำนาจทางการเมืองมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่: 1.อำนาจทางการเมืองที่เกิดจากเพียงคนเดียว เช่น กษัตริย์ (monarchy) 2.อำนาจทางการเมืองเกิดจากกลุ่มคนไม่กี่คน เช่น อภิชนาธิปไตย (aristocracy) 3.อำนาจทางการเมืองที่เกิดจากประชาชน เช่น ประชาธิปไตย (democracy) ซึ่ง Polybius เขาได้บอกไว้ว่าทั้ง 3 อย่างนี้สามารถแปรผันไปสู่สิ่งอื่นได้หากการปกครองขาดความสมดุล เช่น กษัตริย์สามารถเป็นทรราชได้, ประชาธิปไตยสามารถเป็นทรราชของคนหมู่มาก, อภิชนาธิปไตยสามารถนำไปสู่คณาธิปไตยได้ (ในแง่การสืบอำนาจโดยสายเลือด) ยิ่งกว่านั้นการแปรผันทั้ง 3 อย่างสำหรับ Polybius นั้นเกิดจากการที่อำนาจทางการเมืองขาดการถ่วงดุลอำนาจที่ดี มุมทฤษฏีชนชั้นนำตามสำนักอิตาลี (Italian school of elitism) ประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญ 3 คน ได้แก่ Vilfredo Pareto, Gaetano Mosca, Robert Michels ถือเป็นบุคคลร่วมก่อตั้งสำนักนี้เพื่อวิเคราะห์การเมืองผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจของชนชั้นนำ ซึ่งเป็นทฤษฏีหนึ่งที่มีอิทธิพลในโลกตะวันตกอย่างมาก รวมไปถึงมีอิทธิพลต่อฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะทฤษฏีนีโอมาร์กซิสต์ของแอนโทนีโอ กรัมซี่ (Antonio Gramsci) ในเรื่อง “อำนาจนำทางวัฒนธรรม” (cultural hegemony) โดยไอเดียของสำนักนี้มีอยู่ 2 อย่างด้วยกันได้แก่: 1. "อำนาจ" (power) จะอยู่ภายในสถานะตำแหน่งผู้มีอำนาจที่เป็นคีย์หลักภายในสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น นายทุนใหญ่, นายกรัฐมนตรี, ข้าราชการระดับสูง ฯลฯ 2. "ความแตกต่างทางจิตวิทยา" (psychological differences) ทำให้ชนชั้นนำและชนชั้นล่างแตกต่างออกไป กล่าวคือชนชั้นนำมีทรัพยากรเป็นของตัวเอง เช่น สติปัญญาและทักษะต่างๆ และมีผลประโยชน์โดยตรงในรัฐบาล ในขณะที่คนอื่นๆ เป็นพวกไร้ความสามารถและไม่มีกำลังที่จะปกครองตนเองได้ ชนชั้นนำกลับเป็นผู้มีทรัพยากรมากและประสงค์อยากให้รัฐบาลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เพื่อพวกเขาเอง) เพราะในความเป็นจริงคือ ชนชั้นนำจะเป็นกลุ่มที่สูญเสียมากที่สุดในกรณีที่เกิดรัฐล้มเหลว แต่ทีนี้ผมอยากไล่แนวคิดของผู้ก่อตั้งสำนักทฤษฏีชนชั้นนำ 3 ท่านก่อน แล้วอยากจะขมวดปมเรื่อง “แยกเงินออกจากรัฐ” ในบทนี้ให้เร็วก่อนจะไปขยายความเพิ่มในตอนทื่สาม (1) Vilfredo Pareto (1848–1923) เป็นนักพหูสูตชาวอิตาลี เขามีความเชี่ยวชาญในด้านสังคมวิทยา วิศวกรรมโยธา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์และปรัชญา สำหรับเรื่องทฤษฏีเขาได้จำแนก "ชนชั้นนำ" ว่าโดยทั่วไปมันมี 2 กลุ่มได้แก่: 1.ชนชั้นนำผู้ปกครอง (governing elite) 2.ชนชั้นนำที่ไม่ได้ปกครอง (non-governing elite) ตลอดประวัติศาสตร์มักจะชนชั้นกลุ่มใหม่เข้ามาแทนที่ชนชั้นกลุ่มเก่าเสมอ สิ่งนี้คือ "วัฎจักร" หรือ "ธรรมชาติของสังคมมนุษย์" //เหล่าผู้นำนักปฏิวัติในประวัติศาสตร์บางส่วนก็ไม่ได้เป็นชนชั้นนำมาก่อนแต่พวกเขามีสถานะพิเศษบางอย่างในสถานการณ์หนึ่งที่ทำให้ตัวเองขึ้นไปเป็นชนชั้นนำได้ หรือ เป็นชนชั้นนำที่ไม่ได้ปกครอง ยกตัวอย่างเช่น ขุนนางชั้นผู้น้อย แต่มีพละกำลังโค่นล้มชนชั้นนำผู้ปกครองได้แล้วสถาปนาตัวเองเป็นชนชั้นนำผู้ปกครองคนใหม่ เป็นต้น สาระสำคัญของแนวคิดชนชั้นนำของ Pareto คือ “ประวัติศาสตร์มนุษย์มีชนชั้นนำคนใหม่เข้ามาแทนที่ชนชั้นนำคนเก่าเสมอ” ภายใต้เงื่อนไขที่ระบอบการปกครองถูกเปลี่ยนแปลง หรือ มีสถานการณ์ใดก็ตามที่เฉพาะเจาะจงให้เกิดความแปรผัน (2) Gaetano Mosca (1858–1941) เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอิตาลี แนวคิดการแบ่งกลุ่มชนชั้นนำไม่ค่อยต่างจาก Pareto มากนัก แต่รายละเอียดนั้นต่างกันออกไปเพราะ Mosca ได้เสริมความแตกต่างระหว่างชนชั้นนำกับมวลชนได้เป็นอย่างดี โดยเขามองว่า 1.ชนชั้นนำ เป็นผู้ที่มีศีลธรรม ปัญญา และความเหนือกว่าในด้านต่างๆ ที่มีอิทธิพลสูง จึงจัดเป็นกลุ่มที่ "มีระเบียบในตัวเอง" (organized minority) หมายถึง มันไม่วุ่นวายและถ้าดีลผลประโยชน์ลงตัวทุกอย่างจบ 2.มวลชน (ตรงกันข้ามกับชนชั้นนำ) จึงจัดเป็นกลุ่มที่ "ไม่มีระเบียบในตัวเอง" (unorganized majority) คือมีความวุ่นวายและความไม่สงบ ใช้แต่อารมณ์เหนือเหตุผล ฯลฯ สำหรับ Mosca ก็ได้แบ่งชนชั้นนำเป็น 2 กลุ่มเหมือนกันได้แก่ 1.ชนชั้นนำในกลุ่มชนชั้นทางการเมือง (Political class or ruling class) 2.ชนชั้นนำที่ไม่ใช่กลุ่มทางการเมือง (Non-Political class or sub-elite) (3) Robert Michels (1876–1936) เป็นนักสังคมวิทยาชาวอิตาลีถือเป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฏีชนชั้นนำที่ยากจะปฏิเสธในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม ณ ปัจจุบัน ทฤษฏีของเขารู้จักในชื่อ "กฎเหล็กของคณาธิปไตย" หรือ "iron law of oligarchy" โดยสรุปคือ "องค์กรทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมถูกขับเคลื่อนโดยคนไม่กี่กลุ่มเสมอ" นอกจากนี้ยังมีคีย์หลักการมีอยู่ของสิ่งนี้ก็คือการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่า "องค์กร" กับ "การแบ่งงานตามทักษะ หน้าที่ ความรู้ ความชำนาญ" Michels เชื่อว่าทุกองค์กรใด ๆ ก็ตามต้องมีชนชั้นนำและชนชั้นนำนี้ได้ยึด 3 หลักการพื้นฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยให้โครงสร้างราชการขององค์กรทางการเมืองมีอยู่ ได้แก่ 1.ความต้องการผู้นำที่เป็นบุคลากรเฉพาะทาง/บุคคลที่มีความสามารถในการนำองค์กร 2.การใช้ประโยชน์จากความสามารถของผู้นำในการนำองค์กร 3.ความสำคัญของคุณลักษณะทางจิตวิทยาของผู้นำที่จะนำองค์กร นักทฤษฏีชนชั้นนำร่วมสมัยยังมีอีกหลายคนแต่ผมอยากนำเสนอแค่ 3 คนนี้ก่อนเพราะมันเป็นพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจองค์กรที่เรียกว่า “รัฐ” ได้เป็นอย่างดี เพราะรัฐเกี่ยวข้องกับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้และการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำไม่ใช่ประชาชน คำถามคือมันเกี่ยวยังไงกับหัวข้อ “การแยกเงินออกจากรัฐ?” สำหรับกรณีของทฤษฏีชนชั้นนำมันชี้ให้เห็นว่า “การควบคุมเงิน” หมายถึงความต้องการหนึ่งที่ชนชั้นอยากให้เป็นอย่างนั้นเพื่อควบคุมทิศทางของเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ดังนั้นแล้วโดยธรรมชาติที่เขาปรารถนาพวกเขาจะต้อง: 1.รักษาและป้องกันระบอบการปกครองของตนเองเอาไว้ แนวคิด “การแยกเงินออกจากรัฐ” จึงไม่ควรทำให้เกิดขึ้นเพราะมันจะทำให้ชนชั้นนำปัจจุบันเกิดการเสื่อมสลายไป อย่างเช่น สร้างสูตรสำเร็จทางการเมืองบางอย่างขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับอุดมการณ์ความเชื่ออื่นในสังคมแล้วทำให้สูตรสำเร็จนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาระบอบการปกครองเดิมเอาไว้ หนึ่งในตัวอย่างอุดมการณ์ที่มีชัยชนะและเห็นได้ชัดก็คือ อุดมการณ์แนว เสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) และอนุรักษ์นิยมใหม่ (neoconservative) 1.1 (พูดในภาพรวม) (พวกเขาต้อง) ป้องกันไม่ให้โลกเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงพวกเขาเองไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จึงจำเป็นต้องสร้างฐานทางความคิดทางอุดมการณ์บางอย่างภายในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ThinkTank //สถาบันการศึกษาและวิจัยด้านเศรษฐกิจสังคม (TDRI, สถาบันป๋วย ฯลฯ) กล่าวคือเพื่อไม่ให้ชนชั้นนำใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ได้ 2.โฆษณาชวนเชื่อ (ล้างสมอง) ต่อประชาชนที่ถือเป็น “unorganized majority” หมายความว่าประชาชนต้องเชื่อในระบอบเท่านั้นห้ามตั้งคำถาม สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดของรัฐคือการให้คนคิดเป็นเพื่อมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐ พวกเขาอาจจะให้เจ้าหน้าที่มาควบคุมตัว ให้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐมาตรวจสอบสอดส่อง ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น 3.(พวกเขาจะต้อง) ควบคุมอำนาจนำทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมในระดับรัฐจนถึงโลก พวกนี้เป็นกลุ่มกระหายอำนาจที่สร้างสภาวะ Unipolar politics ในการเมืองระหว่างประเทศ “ความรุนแรง” เป็นเบื้องหลังสูตรสำเร็จของการทำให้เงินแยกออกจากรัฐไม่ได้เพราะกระดาษทุกใบมันมีความเชื่อมั่นไม่ใช่เพราะสถาบันการเงินอย่างแบงค์ชาติเข้มแข็ง แต่เพราะยังมีปืนจากกองทัพของรัฐ ยกตัวอย่างมรดกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นว่ามีอะไรบ้างเชื่อว่าทราบได้ทันที ข้อมูลและแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฏีว่าด้วยชนชั้นนำพื้นฐานมีเท่านี้นะครับ โปรดติดตามตอนต่อไป #siamstr #politics