Oddbean new post about | logout
 
มีคำหนึ่งในพุทธศาสนาที่เราอาจจะคุ้นหู แต่ว่าความเข้าใจอาจจะไม่ตรงกับความหมายในพุทธศาสนา นั่นคือคำว่า อธิปไตย

เวลาเรานึกถึงอธิปไตย ก็นึกไปถึงเรื่องของการเมือง ระบอบการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย แต่อธิปไตยในพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องของระบอบการปกครอง แต่เป็นเรื่องของการให้คุณค่าให้ความสำคัญ

อธิปไตยก็แปลว่าการถือเอาเป็นใหญ่ เอาอะไรเป็นใหญ่ ก็มี 3 ประการใหญ่ ๆ อันแรกคือธรรมาธิปไตย คือการเอาธรรมะเป็นใหญ่ อันที่ 2 คืออัตตาธิปไตย การถือเอาตัวเองหรืออัตตาเป็นใหญ่ และ 3 โลกาธิปไตย ถือเอาคนหมู่มากเป็นใหญ่ ความหมายนี้ก็คือว่าไม่ได้มีความเห็นเป็นของตัวเอง แต่ว่าทำไปตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ ที่เรียกว่าโลก เป็นต้น
 
แต่ว่าหลัก ๆ ก็มีอยู่ 2 อย่าง ที่เราควรจะใส่ใจและก็ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง นั่นคือ ธรรมาธิปไตยกับอัตตาธิปไตย 

การถือธรรมเป็นใหญ่ ความหมายคือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เวลาเราทำงานทำการหรือเราใช้ชีวิต ถ้าเราถือธรรมเป็นใหญ่หรือธรรมาธิปไตย เราก็จะตั้งตัวอยู่ในศีลในธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพราะเห็นแก่ความถูกต้อง 
แต่ถ้าเราเอาตัวเองเป็นใหญ่หรืออัตตาธิปไตย มันก็คือการเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่สนใจว่าความถูกต้องหรือระเบียบกฎเกณฑ์จะเป็นอย่างไร  ถ้าเราถือตัวเองเป็นใหญ่ การที่เราจะอยู่ในศีลธรรมก็ยาก เพราะว่าเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของกิเลสนั่นแหละ หรือความเห็นแก่ตัว

อัตตาธิปไตยในความหมายที่แย่คือการเห็นแก่ตัว ส่วนธรรมาธิปไตยเห็นแก่ธรรมะ เห็นแก่ความถูกต้อง หรือถ้าพูดง่าย ๆ คือว่าธรรมาธิปไตยคือการเอาถูกความเป็นใหญ่ ส่วนอัตตาธิปไตยคือเอาความถูกใจเป็นใหญ่

อันนี้เราก็มาพิจารณาดูง่าย ๆ ในการดำเนินชีวิตของคนเรา ในแต่ละวันเราเอาอะไรเป็นใหญ่ อย่างเช่นเวลากินอาหาร ถ้าเราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ หรือธรรมาธิปไตย เราก็จะกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง มีกำลังวังชา เพื่อที่จะได้ทำกิจการงานต่าง ๆ ได้
 
แต่ถ้าเอาความถูกใจเป็นใหญ่ เราก็จะกินเพราะว่ามันอร่อย เอารสชาติเป็นใหญ่ ถึงแม้ว่ามันจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่มันอร่อย มันหวาน มันเปรี้ยว มันเผ็ด มันเค็ม หรือว่ามันสีสวยน่ากิน ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะเจือไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตราย
 
หลายคนก็รู้ว่ากินอาหารที่มันเต็มไปด้วยไขมัน อุดมไปด้วยน้ำตาล เป็นโทษต่อสุขภาพ แต่ก็ห้ามใจไม่ได้ กินมาก ๆ เข้า สุดท้ายก็เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไตวาย หรือบางทีถ้ากินอาหารประเภทที่มันเป็นของดิบ เช่น ปลาดิบ มีพยาธิใบไม้ในตับ ก็เกิดเป็นมะเร็งในตับ หลายคนก็รู้ว่ากินอาหารแบบนี้ ทำให้เกิดโรคเป็นมะเร็งในตับ รู้ว่ามันไม่ถูกต้องแต่ก็กิน เพราะมันถูกใจ
 
หรือเวลาเราเรียนหนังสือ ถ้าความถูกต้อง เราก็ต้องเรียนด้วยความขยันหมั่นเพียร ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต เวลาทำการบ้าน หรือเวลาเข้าห้องสอบ แต่ถ้าเราเอาความถูกใจเป็นใหญ่ เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง บางวิชาฉันไม่ชอบฉันก็ไม่เรียน เวลาทำการบ้านก็ไปลอกจากเพื่อน หรือว่าไปตัดแปะมาจากกูเกิ้ลหรือวิกิพีเดีย เวลาสอบก็ทุจริต แม้รู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่มันถูกใจ คือมันสะดวก ง่าย สบาย 

เวลาทำงานถ้าเราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เราก็จะทำงานด้วยความรับผิดชอบ แม้ว่าเป็นงานที่เราไม่ชอบ แต่เมื่อเรามีหน้าที่ เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เพราะเป็นความรับผิดชอบของเรา แต่ถ้าเอาความถูกใจ งานนี้ฉันไม่ชอบ ฉันก็ไม่ทำ ต่อเมื่อเป็นงานที่ฉันชอบ ฉันจึงจะทำ 

หรือถ้าเป็นงานที่ฉันไม่ได้อะไร ฉันไม่ทำ จะทำก็ต่อเมื่อเป็นงานที่ได้ผลประโยชน์ เวลาจะทำอะไรก็จะถามว่าทำแล้วฉันจะได้อะไร อันนี้ก็คือเอาความถูกใจเป็นหลัก หรือเอาความถูกใจเป็นใหญ่ในเวลาทำงาน

เวลาใช้ข้าวของ เช่นโทรศัพท์มือถือ ถามตัวเราเองว่าเราใช้ความถูกต้องหรือความถูกใจ ถ้าใช้ความถูกต้องเป็นใหญ่ ก็จะใช้โทรศัพท์เพื่อติดต่องานการ ทำกิจธุระ หาความรู้ เช็คข้อมูล 
อาจจะดูหนังฟังเพลงบ้าง ก็ให้เวลากับมันพอสมควร ไม่ใช่หมกมุ่นอยู่กับมัน โดยไม่เป็นอันทำอะไร งานการก็ไม่สนใจ ก้มหน้าดูแต่โทรศัพท์ ใช้ดูหนังฟังเพลง หรือบางทีหนักกว่านั้น ใช้เพื่อเล่นพนันออนไลน์ หรือเล่นเกมออนไลน์ วันหนึ่งหลายชั่วโมง การใช้โทรศัพท์มือถือแบบนี้ ก็เรียกว่าไม่ได้เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ แต่เอาความถูกใจเป็นใหญ่

ฉะนั้นลองพิจารณาดูเรื่องการใช้ชีวิตของคนเรา รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้คน เราใช้อะไรเป็นใหญ่ เอาความถูกต้องเป็นใหญ่ หรือเอาความถูกใจเป็นใหญ่ เวลาคบเพื่อน เวลามีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน ถ้าเราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เราก็จะคำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง เราจะไม่คิดถึงแต่จะเบียดเบียน เอาเปรียบ ต้องมีความเสียสละ แล้วก็รู้จักอดกลั้น ไม่ทำตามอารมณ์ 

แต่ถ้าเอาความถูกใจเป็นใหญ่ ก็เรียกว่าไม่สนใจว่าคนอื่น เขาจะรู้สึกอย่างไร เอาเปรียบได้ก็เอาเปรียบ ไม่พอใจอะไรก็โวยวาย เรียกว่าขาดน้ำใจ แล้วก็ขาดความรับผิดชอบ มันเป็นเส้นแบ่งได้เลยในเรื่องคน ในเรื่องของพฤติกรรม ในเรื่องของการกระทำ ว่าเราใช้ความถูกต้องหรือความถูกใจ 

ถ้าเราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่  ชีวิตก็มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้า อยู่ในศีลในธรรม ตั้งมั่นในความดี แต่ถ้าเราเอาความถูกใจเป็นใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะตกต่ำย่ำแย่ เพราะสุดท้ายก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว หรือว่าตกเป็นทาสของกิเลส อยากกินอะไรก็กิน อยากทำอะไรก็ทำ ไม่ได้สนใจส่วนรวม 

เวลามาอยู่วัดก็เหมือนกัน ถ้าเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เราก็จะปฏิบัติตามกฎระเบียบ แม้บางอย่างเราอาจจะต้องฝืนใจทำ เพราะว่าเราเป็นคนตื่นสาย แต่ว่าเราจำเป็นต้องตื่นเช้ามาทำวัตร เพราะว่ามันเป็นระเบียบ มันเป็นข้อวัตร เป็นกติกา เวลามีการทำกิจส่วนรวมก็ไปร่วมช่วยทำ
 
แต่ถ้าเราเอาความถูกใจเป็นใหญ่ มาบ้างไม่มาบ้าง ทำวัตร เอาความอยากของตัวเองเป็นหลัก ไม่อยากมาก็ไม่มา หรือว่าไม่อยากตื่นก็ไม่ตื่น งานที่เป็นของส่วนรวม ฉันไม่อยากทำฉันก็ไม่ทำ อันนี้ก็ทำให้ชีวิตเราย่ำแย่ไป

แต่ที่จริงแล้วถ้าเราแยกแยะความถูกต้อง ความถูกใจเป็น ก็จะทำให้เราสามารถที่จะใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้องได้ แต่บางครั้งมันก็ไม่ง่ายที่เราจะแยกแยะได้ชัดเจน ระหว่างความถูกต้องกับความถูกใจ เพราะบางครั้งกิเลสมันก็ฉลาด มันจะอ้างความถูกต้องเฉพาะเวลาที่ถูกใจ แต่ถ้าหากว่าความถูกต้องยามใดไม่ถูกใจฉัน ฉันก็ไม่สนใจ 

อย่างเช่นเวลาทำงาน สิ้นปีก็มีโบนัส ถ้าหากว่าฉันได้โบนัส แต่ถ้ารู้ว่าคนอื่นได้โบนัสมากกว่าฉัน เช่นฉันได้ 50,000  แต่อีกคนได้ 70,000 หรือแสนหนึ่ง ก็จะไม่พอใจ ก็จะอ้างว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ความเป็นธรรมคืออะไร ความถูกต้องคืออะไร ก็คือต้องได้เท่ากัน ก็อาจจะเรียกร้อง อาจจะประท้วง อาจจะโวยวายว่ามันต้องเป็นธรรม คือต้องได้เท่ากัน ถึงจะถูกต้อง 

แต่ถ้าหากว่าตัวเองได้มากกว่า ตัวเองได้แสน แต่ว่าคนอื่นเขาได้ 50,000, 70,000 เงียบเลย ไม่พูดสักคำเลยว่ามันไม่ถูกต้อง มันไม่เป็นธรรม เพราะอะไร เพราะว่าฉันได้มากกว่า คราวนี้ฉันได้มากกว่า ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกใจฉันแล้ว ถึงตอนนี้ก็ทิ้งเรื่องความถูกต้องไป แต่ถ้าเราเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ แม้ว่าจะมีเงินหรือได้เงินมากกว่าคนอื่น มันก็ไม่ถูกต้องอยู่นั่นเอง ก็ต้องทำให้เกิดความถูกต้องขึ้นมา คือว่าต้องได้เท่าคนอื่น

หลายคนเรียกร้องความถูกต้อง เรียกร้องความเป็นธรรม บ่อยครั้งเลยเพราะว่าตัวเองสูญเสียผลประโยชน์ หรือว่าไม่ได้ประโยชน์เท่ากับคนอื่น ถ้าหากว่าตัวเองได้เกิดน้อยกว่าคนอื่น จะเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องความถูกต้อง แต่ถ้าหากว่าตัวเองได้มากกว่าคนอื่น ความถูกต้องก็ลืมไปเลย อันนี้แหละนะเรียกว่าอ้างความถูกต้องต่อเมื่อมันถูกใจฉัน 
ทั้งที่ถ้าถูกต้องแล้วฉันได้เท่าคนอื่น แต่กลับดีหากว่าฉันได้มากกว่าคนอื่น แล้วหากความถูกต้องหมายถึงว่าฉันต้องได้น้อยลง ลดลงมาจากแสนให้เหลือ 70,000 เท่ากับคนอื่น ฉันไม่เอาแล้ว 

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพบอยู่บ่อย ๆ อ้างความถูกต้องต่อเมื่อมันถูกใจ  แต่ถ้ามันไม่ถูกใจฉันเมื่อไหร่ ก็ไม่อ้างความถูกต้องแล้ว ลืมไปเลย อันนี้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะบางครั้งกิเลสมันก็ฉลาด มันก็อ้างความถูกต้อง เพื่อสนองผลประโยชน์ของมัน และบางทีเราก็นิยามความถูกต้องแปรผันไป ขึ้นอยู่กับความถูกใจ
 
ความถูกต้องหรือความเป็นธรรม มันก็มองได้หลายแง่ และตรงนี้แหละ เป็นโอกาสที่จะทำให้ตัวกิเลสมันมาเป็นตัวกำหนด ว่าอย่างไหนเรียกว่าเป็นความถูกต้อง
 
อย่างเช่นหมู่บ้านหนึ่ง เมื่อสัก 30-40 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มีอบต. ในหมู่บ้านนั้นมีปั๊มน้ำ ที่ใช้แบบคันโยก เป็นปั๊มน้ำของหมู่บ้าน มันเกิดเสียขึ้นมา นักศึกษาที่เป็นพัฒนากรประจำหมู่บ้าน เขาก็เสนอว่าควรจะเก็บเงินทุกหลังคาเลยหลังคาละ 10 บาท เพื่อเป็นค่าซ่อมปั๊ม
 
ปรากฏว่าชาวบ้านหลายคนไม่ยอม บอกว่าบ้านฉันอยู่ไกลจากปั๊มน้ำ ฉันไม่ค่อยได้ใช้หรอก บ้านไหนที่ใช้ปั๊มมากกว่า เพราะอยู่ใกล้ปั๊ม ควรจะเสียมากกว่า ส่วนบ้านไหนที่อยู่ไกลใช้น้อย ก็ควรจะเสียน้อย แทนที่จะเสีย 10 บาท ก็เสีย 5 บาท เสียเท่ากันนี่ถือว่าไม่เป็นธรรม ตกลงก็เป็นอันว่าต้องเสียไม่เท่ากัน

แต่หนึ่งเดือนต่อมาในหมู่บ้าน มีคนเอาผ้าห่มมาแจก เพราะว่ามันใกล้ฤดูหนาว เอามาถวายวัด หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านก็ปรึกษามัคทายก เพราะว่าผ้าห่มมันไม่พอที่จะแจกให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนเท่ากัน มัคทายกก็เสนอว่าบ้านไหนที่ช่วยส่วนรวมได้ 2 ผืน บ้านไหนที่ไม่ค่อยช่วยส่วนรวมได้ 1 ผืน 

พอประกาศอย่างนี้เข้า ชาวบ้านไม่พอใจ บอกว่าไม่เป็นธรรม เป็นธรรมคืออะไร เป็นธรรมคือต้องได้เท่ากัน ก็แปลกนะ เวลาจ่ายเงิน ต้องจ่ายไม่เท่ากัน ถึงจะเป็นธรรม แต่เวลาพอได้ผ้าห่มหรือแจกผ้าห่ม ต้องได้เท่ากันถึงจะเป็นธรรม

อันนี้แปลว่าอะไร แปลว่าความเป็นธรรมหรือความถูกต้องนี่มันไม่แน่นอน มันแปรผันขึ้นอยู่กับความถูกใจ จ่ายเท่ากัน หลายคนไม่ถูกใจ ควรจะจ่ายน้อยกว่า จ่ายไม่เท่ากันจึงจะเรียกว่าเป็นธรรม แต่ถึงเวลาได้ ต้องได้เท่ากันจึงจะเป็นธรรม 

ถ้าเราพิจารณาดูก็จะพบว่า นี่มันเป็นการนิยามคำว่าเป็นธรรม หรือความถูกต้องโดยอาศัยความถูกใจ ถึงเวลาได้ ต้องได้เท่ากันจึงจะถูกใจ ถ้าได้ไม่เท่ากัน ไม่ถูกใจ ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม แต่เวลาจ่าย ต้องจ่ายไม่เท่ากันจึงจะถูกต้อง ฉันต้องจ่ายน้อยกว่า เพราะบ้านฉันอยู่ไกล อย่างนี้เรียกว่าเป็นธรรม 

ฉะนั้นความเป็นธรรม ถ้าเราไม่ระวัง มันก็เป็นข้ออ้างเพื่อสนองกิเลส เพื่อสนองความถูกใจ ถ้าเราดูให้ดี ๆ ความถูกต้อง ความถูกใจ แม้ว่าความหมายจะต่างกัน แต่ถ้าไม่ระวัง มันก็กลายเป็นเรื่องเดียวกันได้ ก็คือว่าอันไหนถูกใจจึงเรียกว่าถูกต้อง อันไหนไม่ถูกใจก็เรียกว่าไม่ถูกต้อง
 
และอีกอย่างหนึ่งคือแม้เราจะมีความชัดเจนว่าอย่างนี้คือความถูกต้อง แต่ก็ต้องระวัง อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมาก เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นกับความถูกต้องเมื่อไหร่ พอเจอใครทำอะไรไม่ถูกต้อง กลายเป็นไม่ถูกใจไปเลย
 
อย่างที่เคยเล่า ศีลจาริณี บวชใหม่ ไม่รู้ธรรมเนียม ยืนกินน้ำ แม่ชีเดินผ่านมาเห็นคาตาเลย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่ว่าไปยึดกับความถูกต้องมากไป พอเจอความไม่ถูกต้องขึ้นมา โกรธนะ ทุบหลังศีลจาริณีเลย อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะยึดมั่นความถูกต้องมาก ยึดมั่นกับระเบียบมาก พอยึดมั่นกับระเบียบหรือความถูกต้อง พอเจอความไม่ถูกต้อง หรือใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็จะโกรธ
 
หรือว่าที่วัดก็มีระเบียบ เวลาฟังธรรมต้องปิดโทรศัพท์มือถือ อันนี้คือความถูกต้องที่ควรปฏิบัติร่วมกัน แต่เกิดมีโยมคนหนึ่งลืมปิดโทรศัพท์มือถือ แล้วบังเอิญมีคนโทรเข้ามา เสียงก็ดังกลางศาลาเลย ขณะที่เจ้าอาวาสกำลังเทศน์อยู่ นี่เป็นความไม่ถูกต้องแท้ ๆ เลย ถ้ายึดมั่นกับความถูกต้องมาก เวลาเจอความไม่ถูกต้องแบบนี้ก็โกรธ
 
โกรธแล้วเป็นอย่างไร ก็ตะโกนด่าเลย เจ้าอาวาสก็ตะโกนด่าเลย กำลังเทศน์อยู่ดีๆ เปลี่ยนโหมดเลยนะ เป็นการด่าแทน ด่าเจ้าของโทรศัพท์ที่ลืมปิดโทรศัพท์ อันนี้เรียกว่าพอเจอความไม่ถูกต้องนี่ มันเกิดไม่ถูกใจขึ้นมา พอไม่ถูกใจแล้วกิเลสมันก็พร้อมที่จะเล่นงาน พร้อมที่จะโวยวาย พร้อมที่จะพูด หรือพร้อมที่จะกระทำอะไรก็ตามด้วยอำนาจของโทสะ ด้วยอำนาจของกิเลส ซึ่งเป็นเรื่องของอัตตาธิปไตย

ฉะนั้นเราต้องระวัง ขณะที่เรายึดมั่นในความถูกต้อง ถ้าเรายึดมั่นมากไป พอเจอใครทำอะไรไม่ถูกต้องขึ้นมา ความไม่ถูกต้องจะกลายเป็นความไม่ถูกใจทันทีเลย ทั้งๆ ที่ดูเผินๆ ไม่ถูกต้องกับไม่ถูกใจนี่มันห่างกันนะ มันไกลกันมาก
 
เช่นเดียวกับความถูกต้อง ความถูกใจ บางทีมันก็ไกลกันมาก แต่ในบางครั้งบางคราว ถ้าไม่รู้ทันมัน มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปเลย คือถ้าไม่ถูกต้องเมื่อไหร่ ก็ไม่ถูกใจเมื่อนั้น หรือจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต่อเมื่อมันถูกใจ ถ้าอันไหนไม่ถูกใจ ก็ไม่ถูกต้องไป 

อันนี้มันต้องใช้สติพิจารณา การที่เรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เป็นสิ่งที่ดี และการที่เราปฏิบัติตามความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่ดี เรียกว่ามีธรรมาธิปไตย แต่ถ้าเรายึดมั่นในความถูกต้องมากไป มันก็ง่ายมากเลยนะ ที่เวลาเจอใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ความไม่ถูกต้องก็กลายเป็นความไม่ถูกใจ หรือกระตุ้นให้เกิดความไม่ถูกใจทันที 

แล้วบางทีก็ไม่รู้ตัวนะ ก็ยังคิดว่าฉันทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่ทำไปมันถูกใจต่างหาก แล้วมันก็เกินเลยความถูกต้องไป เพราะว่าไปทุบหลังคนอื่นนี่มันจะถูกต้องได้อย่างไร หรือว่าไปตะโกนด่ากลางศาลาในขณะที่ขาดสติ หรือทำไปด้วยความโกรธ จะเป็นความถูกต้องได้อย่างไร มันก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความถูกต้องไม่ใช่ว่ามันจะกลายเป็นสิ่งตรงข้ามกับความถูกใจ

ถ้าเราไม่ระวัง ความยึดมั่นถือมั่น มันก็จะทำให้ความถูกต้องกับความถูกใจ กลายเป็นอันเดียวกัน แล้วก็ทำให้เกิดความผิดพลาด หรือเกิดความเสียหายขึ้น
 
หลายคนก็ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง อันนี้มีเยอะเลย ที่เป็นข่าวก็คือว่าไปฆ่าคนนั้นคนนี้เพื่อรักษาความถูกต้อง ไม่ว่าเป็นความถูกต้องทางการเมือง ความถูกต้องทางศาสนา
 
อย่างพวกที่เป็นพวกก่อการร้าย หลายคนเขาก็คิดว่าเขาทำเพื่อพระเจ้า เขาทำเพื่อพิทักษ์ความถูกต้องทางศาสนา แต่ว่าสิ่งที่เขาทำ มันกลายเป็นความไม่ถูกต้องไปเสียแล้ว ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส ตัวเองเป็นคนตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไป ใครที่คิดไม่เหมือนฉัน ก็ต้องถูกกำจัดออกไปจากโลกนี้ เพราะมันเป็นคนที่คิดไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ถูกต้อง
 
ที่จริงก็เป็นเพียงแค่เห็นต่างจากตัวเองเท่านั้น แต่พอเจอคนที่เห็นต่าง ก็เปลี่ยนจากความไม่ถูกใจ กลายเป็นข้ออ้างว่าเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็สมควรกำจัดออกไปจากโลกนี้
 
อันนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นข่าว แล้วมันไม่ใช่เพราะเรื่องศาสนาอย่างเดียว เรื่องการเมือง เรื่องวัฒนธรรม ก็มีความถูกต้องของมัน แต่ถ้าไปยึดความถูกต้องมากไป ใครที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องในสายตาของเรา มันก็กลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นความไม่ถูกใจ ทำให้เกิดความโกรธ ทำให้เกิดข้ออ้างในการที่จะจัดการ ทำร้าย หรือว่าสังหาร
 
ฉะนั้นต้องระวังมากทีเดียว การทำความไม่ถูกต้อง ในนามของความถูกต้อง ก็กลายเป็นว่าทำไปด้วยอำนาจของกิเลส แทนที่จะเป็นธรรมาธิปไตย ก็กลายเป็นอัตตาธิปไตยไป.

https://youtu.be/nvGHQUvjvOE

พระไพศาล วิสาโล
วัดป่าสุคะโต
4 กันยายน  2565
ขอขอบคุณ
Nonglak Trongselsat

#truthbetold #pyschology #mindset #life #siamstr 
 #siamstr

หลายคนก็ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง

พระไพศาล วิสาโล

nostr:nevent1qqsz6jgpylpwy2c4eml5nm04rjzrcf7fuhhmh53pw7565ryk3rv5kqszypv9xumys7yl9c68eq3pvk4ef5xz4w6ts4keprl0wctc85rstd9c2qcyqqq823chpn9dr