## Writing technique | รีวิวบทความตัวเอง
หลายคนอาจไม่รู้ว่าผมพึ่งเขียน Long-form ใหม่ไปเมื่อวาน.. ส่วนโน๊ตนี้ผมตั้งใจจะถ่ายทอดอีกหนึ่งเทคนิคในการเขียนบทความให้พวกเราฮะ ✌️
https://image.nostr.build/7cce501474d9a15b6561147ee3c636c7dc3fbd6dfc5308df19bfac5884b2b378.jpg
nostr:naddr1qq25cdpkdq6hwcnyw4y5vvnhgd2x2jpsxsc4xq3qmqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43qxpqqqp65w8g3m9t
Yaki| https://yakihonne.com/article/jakk@rightshift.to/L46h5wbduIF2wCTeH041S
คนที่ยังไม่ได้อ่านก็คงเพราะผมเล่นพิเรนไม่ยอมโน๊ตบอกกันตรงๆ 55 (หรืออาจจะยังไม่ว่าง) แต่ไม่เป็นไร ก็ไปตามอ่านกันเองได้นะครับ Thank you!
เทคนิคที่ว่าก็คือ.. “**การประเมิณผลงานของตัวเอง**” (แบบวางอคติส่วนตัวลง) ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ได้ใช้แค่กับงานเขียน เราสามารถนำหลักการนี้ไปประยุกต์ได้กับทุกเรื่องในชีวิตนะครับ
มันฟังดูแปลกๆ ใช่ไหม?
จะอวยผลงานตัวเองมากกว่าจะออกมาวิจารณ์ล่ะมั้ง?
ทำแบบนั้นไม่ได้ประโยชน์หรอกครับ.. ทุกคนก็รู้ว่าผมไม่ใช่คนเก่งระดับฟ้าประทาน สิ่งเดียวที่ผมมุ่งมั่นอยู่ตลอดคือ “**พยายามจะเป็นคนที่เก่งขึ้น**” “**พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา**” และการรีวิวตัวเองก็เป็น “**ขั้นสูง*”” ของทักษะหนึ่งที่จะพาเราไปสู่จุดนั้น
ที่บอกว่าเป็นขั้นสูง เพราะมันยากที่มนุษย์จะมอง “**งานของตัวเอง**” ในด้านลบได้จริงๆ (ไบแอสกันซะส่วนใหญ่) มันยากที่จะได้ผล
*(ใครกลัวโดนสปอยล์เนื้อหาบทความในรีวิวนี้ แนะนำให้ลองไปหาเวลาอ่านมาก่อนนะครับ)*
ปกติคนส่วนใหญ่ก็จะปล่อยผ่าน จะมีอ่านวนๆ ชื่นชมผลงานตัวเองอยู่หลายรอบ แต่ก็มีน้อยคนที่จะมานั่งอ่านซ้ำเรื่อยๆ หรือคิดจะวิจารณ์งานของตัวเอง
เอาแบบนี้.. เวลาที่เราทำกับข้าวเสร็จเรายังต้องชิมก่อนเลยใช่ไหมล่ะ? มันอร่อยไหม เค็มไปหรือเปล่า หวานจัด หรือขาดอะไรไปไหม?
การรีวิวงาน (บทความ) ตัวเองก็เหมือนกัน.. เป็นการ “**ชิม**” งานของตัวเอง ว่ารสชาติของมัน (เนื้อหา, ภาษา) เป็นยังไง มีอะไรที่เราจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง
**แล้วเราจะได้อะไรบ้างจากการรีวิวตัวเอง?**
เราจะฝึกมองให้เห็น “**แผนที่**” ของบทความ เห็นเส้นทางทั้งหมดว่าเราได้พาคนอ่านไปไหนบ้าง จุดไหนที่น่าสนใจ จุดไหนบ้างที่น่าเบื่อ?
ฝึกมองหา “**จุดแข็ง**” ในงาน ส่วนไหนที่เราเขียนได้ดี ประโยค, สำนวน, คำไหนบ้างที่เด็ดๆ สละสลวย เข้าใจง่าย อ่านแล้วเข้าหัว ฯลฯ อะไรที่ดีเราสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
ในทางกลับกันการพิจารณาผลงานโดยวางอคติส่วนตัวลง (วางได้จริงๆ) เราจะพบ “**จุดอ่อน**” ว่ามันมีตรงไหนบ้างที่อ่านแล้วงง ภาษาวกวน บางจุดก็ไม่รู้จะใส่มาทำไมเพราะไม่สัมพันธ์หรือให้ประโยชน์อะไรต่อตัวบทความ ฯลฯ เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ เพื่อคราวหน้าจะได้ไม่พลาดอีก
นอกจากนี้.. ลองสังเกตดูสิว่าเวลาเราเขียนเรามักจะ “**อิน**” กับเรื่องของตัวเอง ทำให้มักจะลืมนึกถึงคนอ่าน การรีวิวจะช่วยฝึกให้เรามองจากมุมคนอ่าน พวกเค้าสนใจเรื่องแบบนี้ไหม ชอบมันไหม อ่านแล้วจะเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อหรือเปล่า?
คำถามที่ยากก็คือ แล้วเราจะรีวิวยังไงให้ “**เวิร์ค**”?
สเต็ปง่ายๆ คือต้องเริ่มจากการ “**พักก่อน**” คืออย่ารีบรีวิวปุ๊บปั๊บ เราควรรอสักพักให้ความอินมันจางลงก่อน จากนั้นจึงค่อยกลับมาอ่านใหม่ ทำแบบนี้จะได้เห็นข้อผิดพลาดชัดขึ้น
ในตอนที่กลับมาอ่านก็ลองคิดว่า เรา “**เป็นคนอ่าน**” ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย อ่านแล้วรู้สึกยังไง เข้าใจหรือน่าเบื่อ?
จากนั้นก็ลองถามตัวเองว่าบทความมันน่าสนใจไหม? ภาษาล่ะ.. อ่านเข้าใจได้ง่ายหรือยาก? เนื้อหาครบถ้วนหรือเปล่า? มีตรงไหนบ้างที่น่าเบื่อ? อ่านแล้วอยากรู้อะไรเพิ่มไหม?
และอย่าลืม “**Take note**” เจออะไรดี ไม่ดี จดไว้เลย เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลืม สามารถเอาสิ่งที่จดไว้ไปปรับปรุงพัฒนาตัวเองได้
ถัดจากนี้ก็เป็นขั้นตอนของมืออาชีพแล้วล่ะ นั่นคือการ “**พิสูจน์อักษร**” และ “**Proofread**” ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมากๆ (แบบที่ อ.พิริยะ Live ในรายการ POW นั่นล่ะ)
หลายคนอาจจะมองข้ามขั้นตอนนี้ไป หรือไม่เคยรู้เลยว่าควรต้องทำ แต่จริงๆ แล้ว มันสำคัญมากนะ
ในการเขียนบทความ (เขียนหนังสือ หรืองานเขียนรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งการโพสต์บนโซเชียลมีเดีย) ถ้ามี "**คำผิด**" มันก็ตะหงิดๆ รำคาญลูกตา หรือถ้ามี "**ประโยคไม่รู้เรื่อง**" คนอ่านก็จะ "ไม่อิน" มันก็ตรงไปตรงมาแบบนี้แหละ..
ผมจะแชร์เทคนิคง่ายๆ ที่ใช้ในการ "**พิสูจน์อักษร**" บทความให้นะครับ
เหมือนเดิม ไปพักก่อนหลังจากเขียนเสร็จ พักสัก 1-2 วัน ค่อยกลับมาอ่าน จะช่วยให้เรามอง “**เห็นคำผิด**" ได้ง่ายขึ้น
จากนั้นลองอ่านออกเสียงดูหน่อย ทุกประโยค ทุกคำ การอ่านออกเสียงจะช่วยให้เราจับ "**จังหวะ**" "**ความลื่นไหล**" ของประโยคเหล่านั้นได้ กระทั่งจังหวะการหายใจของคนอ่าน
ทีนี้ลองอ่านย้อนหลังดูบ้าง (แปลกๆ ใช่มะ?)
โดยเริ่มอ่านจากประโยคสุดท้ายย้อนขึ้นไป เหตุผลที่ต้องทำท่ายากแบบนี้ก็เพราะมันจะช่วยให้เราโฟกัสที่ "**คำ**" มากกว่า "**ความหมาย**” นั่นเอง
วุ่นวายกว่านั้นหน่อยก็คือลองให้คนอื่นช่วยอ่าน ถ้าเป็นไปได้ก็ให้เพื่อนหรือคนรู้จักช่วยอ่าน และให้คำแนะนำกับเรา (ในทีม RS เรามีคนทำหน้าที่ Proofread แยกจากคนเขียนเลยล่ะ)
เห็นไหมล่ะว่า “**งาน**” ไม่ได้จบแค่การ “**ทำให้เสร็จ**” มันมีขั้นตอนในส่วน “**Post-production**” ทำนองนี้ด้วย ซึ่งถ้าเราคือคนประเภทที่อยากจะทำทุกๆ อย่างให้ออกมาดีที่สุด เราชอบพัฒนาตัวเราเอง สนุกกับการได้ “**เป็นคนที่ดีขึ้น**” เราก็จะไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้คืองานหรือเป็นภาระแต่อย่างใด..
สิ่งเหล่านี้คือบทบาทที่ผมทำจริงๆ อยู่เบื้องหลัง ตอนที่ผมมีโอกาสได้ช่วยอาจารย์พิริยะแปลหนังสือ “**Layered Money**” และ “**Inventing Bitcoin**” รวมไปถึงบางบทความบนเว็บไซต์ RS และของตัวเอง
โอเค.. ต่อไปผมขอขึ้นคำว่า **SPOILED ALERT** 🚨⚠️ไว้ก่อนแล้วนะ!
จากที่ผมแนะนำมาทั้งหมด ทีนี้เรามาลองดูการรีวิวบทความ "**เสียงแห่งความทรงจำ**" ของผมกันบ้าง
## เริ่มจาก **ข้อดี** ก่อนละกัน
อย่างแรกที่ชัดคือ **การเล่าเรื่อง** ในมุมมอง **First person** ที่ผมถนัด ด้วยเทคนิค **Storytelling** ในแบบเฉพาะของผมเอง ซึ่งมักจะมี “**ตัวละคร**” (ก็คือตัวผม) มี “**ฉาก**” (ยุค 2000s) และมักจะมี “**ปัญหา**” (ความเบื่อหน่าย, เสียงเพลงที่พาผมย้อนอดีต) นำมาเสมอ
ผมชอบที่เริ่มต้นบทความด้วยเรื่องส่วนตัว บรรยากาศชิลๆ จากการฟังเพลง “**Shadow of the Day**” แล้วจึงค่อยๆ โยงไปเรื่องความทรงจำ มันเหมือนผมพยายามจะ "**ดึง**" คนอ่านเข้ามาในโลกของบทความ (ผมชอบทำแบบนั้นแหละ)
ส่วนด้าน **ภาษา** ด้วยความที่ผมเคยได้เกรด 1 ภาษาไทยมาก่อน ผมรู้ตัวเองไม่น่าจะไปสายพรรณาโวหารได้ ผมจึงตั้งใจใช้ภาษาแบบคนคุยกันธรรมดาๆ ไม่เป็นทางการมากนัก มันเลยอ่านได้สบายๆ ไม่วิชาการจ๋า โดยแอบหวังว่ามันจะทำให้คนอ่านรู้สึก "**ใกล้ชิด**" และ "**เข้าถึง**" บทความได้ง่ายขึ้น
ในแง่ของ **ความรู้** ถึงมันจะเป็นบทความที่เน้น Storytelling แต่ผมก็ได้พยายามสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่อง “**สมอง**”, “**ความจำ**” และ **AI** ลงไปด้วย เพราะอยากให้มันทั้งอ่านสนุก ทั้งได้ความรู้แบบ "**เบาสมอง**" ดูบ้าง
ฉากเรื่องใน **ยุค 2000s** ผมแทรกความเป็น “**Pop Culture**” ลงไป ผมเชื่อว่าคนที่โตมากับ **Linkin Park** อ่านแล้วน่าจะคิดถึงวันเก่าๆ ของวัยรุ่น 2000 และบรรยากาศเก่าๆ มันเหมือนเป็น "**รหัสลับ**" ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคนรุ่นเดียวกันนั่นเอง
## ส่วนเรื่อง **ข้อเสีย** ที่ผมมองเห็น
ผมอ่านเองแล้วพบว่าเนื้อหา **ส่วน "ไขความลับ" มันยาวและอัดแน่นเกินไป** นี่แหละ.. คือจุดที่ผมรู้สึกว่า "**พลาด**" ที่สุด คือตอนเขียนมันอินมากไปหน่อย อยากจะใส่ข้อมูลเยอะๆ เกี่ยวกับสมอง, ความจำ และอยากแถมเรื่อง AI ด้วย เกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง แต่ลืมคิดไปว่า คนอ่านอาจจะรู้สึก "**อิ่ม**" จนเกินไป 😵💫
และแน่นอน.. **ความยาว** ซึ่งก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ โดยส่วนตัวมันเป็น “**Trademark**” ของผมอยู่แล้วที่มักจะเขียนอะไรก็ยาวไปหมด ผมพยายามไม่เขียนให้ยาวเกินไป (แล้วนะ) เพราะจริงๆ ก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่ในสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาอ่านอะไรยาวๆ กันเท่าไหร่ ดังนั้นมันควรจะ "**เข้าถึงง่าย**" และอ่านจบได้ในเวลาไม่นาน บทความนี้มันยาวไปหน่อยนั่นเอง..
ลึกลงไปอีกคือ **โครงสร้างเนื้อหา** ซึ่งผมควรจะแบ่งส่วนนี้ให้เป็นหัวข้อย่อยๆ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น เช่น ผมควรแยกหัวข้อและใช้ Heading หรือ Bullet points เข้ามาช่วยแบ่งส่วนของเนื้อหาให้เป็นหมวดหมู่ย่อยๆ
* สมองกับการทำงานของความทรงจำ
* ทำไมเราถึงจำบางเรื่อง ลืมบางเรื่อง
* พลังของเสียงเพลง
* สมองมนุษย์ vs. AI
* ความทรงจำหายไปได้จริงหรือ?
* เทคนิคฝึกสมอง
จะเห็นว่า.. ถ้าผมแบ่งหัวข้อแยกออกแบบนี้ มันก็อาจจะช่วยให้คนอ่านสามารถ wrap up หรือ Summarize เนื้อหาได้ง่ายขึ้นมากนั่นเอง (แต่ที่ไม่ทำก็เพราะไม่อยากให้เหมือน AI ทำ 555+)
นอกจากนี้ผมยังรู้สึกว่า “**โครงสร้างเนื้อหา** ยังจัดเรียงได้ไม่ดี ผมมีทางเลือกที่จะเหลาเรื่องเพลงและความหมายให้จบในตับเดียวก็ได้ แต่ผมดันเลือกเอาวิชาการ “**ความจำ**” มาแทรกกลางแทนที่จะตบในส่วนท้าย ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าเนื้อหามันกระโดดไปมามากเกินไป..
สุดท้ายคือ.. ผมรู้สึกว่าบทความนี้ **ตอนจบยังขาดพลัง**
หลังจากวิเคราะห์ความหมายในเพลง “**Shadow of the Day**” และ “**Valentine's Day**” แล้ว ผมเหมือน "**ปล่อย**" คนอ่านให้ "**ลอยเคว้ง**" ไปเลย 🤔 มันควรจะดีกว่านี้
จริงๆ ผมควรจะ "**ดึง**" คนอ่านให้กลับมาที่ "**ประเด็นหลัก**" อีกที เช่น ผมอาจจะย้ำถึงพลังของเสียงเพลงที่เชื่อมโยงกับความทรงจำ หรือชวนให้คนอ่านคิดถึงเพลงที่ทำให้คิดถึงอดีตอะไรแบบนี้ เป็นต้น
หรืออาจจะทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกส่วนตัว หรือมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ "**ความทรงจำ**" ให้บทความจบแบบ "**น่าประทับใจ**" (ภาษาในการเขียนบทภาพยนตร์เรียกว่า **Traditional ending**)
แต่ก็นั่นแหละ ผมคือ **Jakk Goodday** ผมขอเลือกจบแบบ **Non-traditional** ดูบ้าง แต่สำหรับบทความนี้ผมคิดว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะเลือกจบแบบที่ทำลงไปเลยสักนิด.. ผมคิดอะไรพิเรนมากไปหน่อย
เอาล่ะ.. ผมขอจบโน๊ตนี้ลงตรงนี้เลยดีกว่า
เราจะเห็นว่า “**การเขียน**” โดยเฉพาะถ้าต้องการให้มันออกมาดี และหวังจะพัฒนาตัวเองในทักษะด้านนี้ มันมีสิ่งมากมายกว่า “**แค่เขียน**” ที่เราต้องดีลกับมัน ตั้งแต่การตั้งต้นไอเดีย วางแผน ดราฟท์ ฝึกทักษะ ศึกษาเทคนิค ฯลฯ ไปจนถึงกระบวนการหลังการเขียนที่จะช่วยต่อยอดพัฒนาตัวเอง
**ผมทำเรื่องง่ายๆ ให้มันยากเกินไปหรือเปล่า?** *
ผมไม่รู้เหมือนกัน.. ผมแค่รู้สึกว่าแบบนี้มันมี **Benefit** มากกว่า ทั้งกับตัวคนเขียนเอง และคนอ่าน เลยอยากลองเอามาแชร์กัน (เพราะผมก็หวังจะได้อ่านผลงานดีๆ จากเพื่อนๆ ด้วยเหมือนกัน)
หวังว่า "**รีวิวบทความตัวเอง**" ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนอื่นที่อยากเขียนบทความให้ดีขึ้นนะครับ 💪✍️
อย่าลืม "**ชิม**" งานตัวเองบ่อยๆ ล่ะ 👅 😋
#siamstr #jakkgoodday #jakkstr